funsportfans.com บ้านผลบอล วิเคราะห์บอล ทีเด็ดบอล ผลบอลสด ข่าวบอล

ฟันธงฟุตบอลคืนนี้

เดอะซูเปอร์ลีก ลีกรูปแบบใหม่ของยุโรปที่ไม่เกิดขึ้นอีก

ในช่างเดือนเมษายน 2021 วงการฟุตบอลต้องพบกับปรากฎการณ์สุดตะลึง เมื่อมีการประกาศเกี่ยวกับการสร้าง European Super League (ESL) หรือที่รู้จักอย่างเป็นทางการ “เดอะ ซูเปอร์ ลีก” ขึ้นมา เพื่อสร้างการแข่งขันรูปแบบใหม่สำหรับทีมระดับแนวหน้าในยุโรป

แนวคิดนี้เริ่มเกิดขึ้นโดยองค์กรที่ชื่อว่า European Super League Company, S. L. โดยลักษณะของลีกนั้นจะเป็นการแข่งขันกันระหว่าง 20 ทีม โดย 12 ทีมในนี้จะเป็น “สโมสรผู้ร่วมก่อตั้งลีก” เข้าร่วมแข่งขันกันเองด้วย การมาของลีกรูปแบบใหม่นี้ยังเป็นการเบียดแย่งงานจากองค์กร UEFA อีกด้วย เพราะมันจะมีผลต่อการแข่งขันของ UEFA ทั้งทางตรงและอ้อม

แต่อย่างไรก็ดี การมาของ ซูเปอร์ลีก ทำให้ทางองค์กรเดิมอย่าง UEFA (ยูฟ่า) รวมถึง FIFA (ฟีฟ่า) ภาครัฐของบางประเทศ รวมถึงสโมสรบางแห่ง เล็งเห็นว่ามันจะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างกับวงการฟุตบอลทั่วโลก

มันจึงกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ European Super League Company ถูกฟ้องร้องจาก UEFA และ FIFA โดยการพิจารณาคดีนี้ในชั้นศาลใช้เวลานานกว่า 2 ปี ก่อนจะมีข้อสรุปว่าทาง UEFA และ FIFA มีความผิดในการขัดขวางการจัด “Super League” ขึ้นมา โดยพวกเขาจะไม่สามารถไปแทรกแซงการจัดการแข่งขันนี้ได้อีกต่อไป

แล้วความเป็นมาของลีกรูปแบบใหม่นี้มีอย่างไรบ้าง รูปแบบของลีกแตกต่างจากการแข่งขันที่มีอยู่แล้วอย่างไร หรือมีเรื่องราวใด ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับลีกบ้าง เรามีสรุปให้แล้วที่นี่

ฮานส์ บาร์เกอร์เทอร์ ผู้ริเริ่มคิดค้นแนวทาง ซูเปอร์ลีก
ฮานส์ บาร์เกอร์เทอร์ ผู้ริเริ่มคิดค้นแนวทาง “ซูเปอร์ลีก”

ซูเปอร์ลีกผู้กำเนิดมาก่อนกาล

ต้นกำเนิดของ “ซูเปอร์ลีก” นั้นไม่ได้เริ่มในช่วงศตวรรษที่ 21 อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน แต่มันมีพื้นเพมาตั้งแต่ครั้งแรกในปี 1968 โดยผู้อำนวยการ UEFA อย่าง ฮานส์ บานเกอร์เทอร์ (Hans Bagerter) โดยเขาได้เป็นผู้ริเริ่มในการสร้างลีกรูปแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อมาแทนที่ “ฟุตบอลถ้วยยุโรป” ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นแนวคิดที่แปลกประหลาดเป็นอย่างมาก

แต่การพิจารณาสร้างลีกการแข่งขันรูปแบบใหม่นี้ไม่มีการนำมาปรับใช้หรือพูดคุยกันอย่างจริงจังในที่ประชุมของ UEFA แต่จะมีการสร้าง “รูปแบบการแข่งขันแบบใหม่” ขึ้นมาแทน ในชื่อว่า “UEFA Cup” (ต่อมาจึงกลายเป็น UEFA Super Cup ในปัจจุบัน)

การพูดคุยเกี่ยวกับ Super League ในระดับยุโรปนั้นไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวเท่านั้น ในปี 1987 ทางผู้บริหารของสโมสร เอซีมิลาน, เรอัลมาดริด และ กลาสโกว์เรนเจอร์ส ได้ร่วมประชุมกันและเข้ามาเสนอกับทาง UEFA เกี่ยวกับการแข่งขันแบบ All-play ในระดับยุโรป ซึ่งเป็นระบบคล้าย ๆ กับการแข่งขันแชมเปียนชิพในลีก พร้อมกับให้เหตุผลว่านี่จะเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับสื่อ รวมถึงทางสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ ในยุโรปมากขึ้นด้วย

การพูดคุยโปรเจกต์การสร้างลีกการแข่งขันรูปแบบใหม่เหมือนจะผ่านไปได้ดี มันมีแผนการที่จะจัดการแข่งขันในฤดูกาล 1991-92 ในโซนยุโรป แต่สุดท้ายมันกลับล่มไปอีกครั้งในปี 1991 หลังจากที่ทางคณะกรรมการของ UEFA ตัดสินใจ “ปล่อยผ่าน” มันไปเป็นครั้งที่สอง การควบรวมการแข่งขันทั้ง 3 ประเภทของ UEFA ในปีนั้นกลับล้มแบบไม่เป็นท่า แต่การแข่งขันหลักในระดับสูงสุดนั้นได้รับการเปลี่ยนเป็น “Champions League” แทน

ต่อมา ในปี 1995 หรือผ่านไป 3 ปีหลังจากการเปลี่ยนแปลงของ Champions League นั้น ทางสโมสร อายักซ์, บาร์เซโลนา, บาเยิร์นมิวนิค และ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ได้วางแผนกันลับ ๆ ในการจัดตั้ง Super League ขึ้นมา โดยเป็นรูปแบบการแข่งขัน 36 ทีมที่แบ่งกันเป็น 3 กลุ่ม พร้อมกับมีรายการแข่งย่อยชื่อว่า “ProCup” ที่จะมี 96 สโมสรเข้าร่วมการแข่งขันแยกไปอีกด้วย

แต่ทาง UEFA รับทราบถึงแผนการของโปรเจกต์นี้ จึงได้ลงมาตรการลงโทษกับทุกสโมสรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนการแข่งขันรูปแบบใหม่นี้ แม้ว่าจะมีการโปรโมตผ่านทางสื่อมวลชนอยู่บ้างในช่วงเวลานั้นจนถึงปี 1998 แต่โปรเจกต์กลับไม่เคยเกิดขึ้นเลย ในขณะที่ทาง UEFA เองยังมีแผนที่จะขยายรูปแบบการแข่งขัน Champions League ออกไปอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ฟลอเรนติโน เปเรซ ผู้ผลักดันคนสำคัญของ Super League

เรอัลมาดริด: ผู้ผลักดันให้ลีกการแข่งขันกลับมา

ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสรเรอัลมาดริด จาก ลาลีกาสเปน คอยเฝ้าติดตามสถานการณ์ของลีกการแข่งขันรูปแบบใหม่มาตั้งแต่สมัยที่มีการโปรโมตในยุคปลาย 90s แล้วเขาให้ความสนใจกับสิ่งนี้เป็นอย่างมาก

เขาได้เริ่มวางแผนโครงสร้างของ Super League ขึ้นมาในปี 2009 โดยมีแนวคิดว่าอยากจะเปลี่ยนให้การแข่งขันระดับยุโรปมีความ “ทันสมัยมากขึ้น” ไม่ให้เหมือนกับการแข่งขันของ UEFA ที่มีความ “ล้าสมัยและเต็มไปด้วยปัญหา”

จนกระทั่งในวันที่ 18 เมษายน 2021 ทางคณะกรรมการบริหารของ UEFA ได้เริ่มทำการขยายรูปแบบการแข่งขัน UEFA Champions League ขึ้นมาอีกครั้ง โดยจะเป็นการขยายรูปแบบการแข่งขันในฤดูกาล 2024-25 เพื่อเพิ่มจำนวนการแข่งขันให้มีมากขึ้น

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ฟลอเรนติโน เปเรซ ได้ประกาศจัดตั้ง Super League ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า European Super League หรือ ESL โดยมีอีก 12 สโมสรเป็นผู้รองรับในการจัดตั้งครั้งนี้ด้วย (อาร์เซนอล, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ซิตี้, แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด, ทอตนัมฮอตสเปอร์, อินเตอร์มิลาน, เอซีมิลาน, ยูเวนตุส, อัตเลติโกมาดริด, บาร์เซโลนา และมีหัวนำคือเรอัลมาดริด)

เปเรซ ได้อธิบายเกี่ยวกับการจัดตั้งลีกขึ้นมาว่า เขาต้องการให้ทุกสโมสรมี “ความหวัง” ที่จะทำให้การแข่งขันรูปแบบใหม่นี้มีคุณภาพสูงขึ้น พร้อมกับเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญให้กับแต่ละสโมสร รวมถึงเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฟุตบอลยุโรปให้เติบโตขึ้น ทำให้ลีกของแต่ละประเทศมีรายได้มากขึ้นด้วย

สโมสรแกนนำของ Super League

สโมสรชั้นนำ vs คณะกรรมการยูฟ่า

ในวันที่ 19 เมษายน 2021 ทางคณะกรรมการ UEFA รับทราบถึงการจัดตั้ง Super League ขึ้นมาแล้วไม่ได้นิ่งนอนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะพวกเขามองว่าตัวเองจะต้อง “เสียประโยชน์” จากการจัดตั้งลีกลักษณะนี้

พวกเขาได้ออกแถลงการณ์ออกมาทันทีว่าจะมีการ “ดำเนินการกับ 12 สโมสรที่มีส่วนในการจัดตั้ง Super League โดยเร็วที่สุด” โดยมีการดำเนินการฟ้องร้องกันในทางกฎหมายเพิ่มเติมอีกด้วย

ในช่วงเวลานั้น คณะกรรมการบางส่วนของ UEFA ยังมีการเสนอให้ผู้เข้าแข่งขันในรายการของพวกเขา ถูก “ปลดออก” จากการแข่งขันที่เกิดขึ้นอยู่ในปี 2021 ไปด้วยเพื่อเป็นการลงโทษ แต่ข้อเสนอในครั้งนี้ถูกปฏิเสธไป ทาง UEFA ไม่มีการ “แบน” ทีมใด ๆ ที่มีส่วนต่อการก่อตั้ง Super League และการแข่งขันทุกรายการของ UEFA จะยังคงดำเนินต่อไป

แต่เหตุการณ์นี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ทาง European Super League รวมถึงทางสโมสรแกนนำอย่างเรอัลมาดริด กับทาง UEFA นั้นเริ่มเข้าสู่จุดแตกหักกันมากขึ้น

พวกเขามีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องว่าการจัดตั้ง Super League นั้นจะสร้างผลกระทบให้กับการแข่งขันในยุโรปอย่างไม่รู้จบ มันกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องไปพิจารณากันในชั้นศาลของยุโรป

ทาง FIFA เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นกัน พวกเขาเข้ามาแทรกแซงพร้อมกับทาง UEFA และร่วมพิจารณาคดีการจัดตั้ง Super League อย่างจริงจัง ในระหว่างนั้น พวกเขาได้ออกกฎเอาไว้อย่างชัดเจนว่าการเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งลีกนั้นถือว่า “มีความผิด” และจะมีบทลงโทษต่อสโมสรที่ฝ่าฝืนด้วย

การพิจารณาคดีลากยาวไปนานกว่า 2 ปีในชั้นศาลยุโรป ความดุเดือดระหว่างสองฝ่ายนั้นยังดูไม่มีวี่แววว่าจะจบลงง่าย ๆ อีกด้วย

การตัดสินชะตากรรมของ European Super League

การตัดสินจากชั้นศาลยุติธรรมของยุโรป

เข้าสู่วันที่ 21 ธันวาคม 2023 ศาลยุติธรรมแห่งยุโรป ได้ประกาศผลการตัดสิน หมายเลข C-333/21 เกี่ยวกับการแทรกแซงของทาง UEFA และ FIFA ต่อการจัดตั้งการแข่งขันระหว่างสโมสรในยุโรป เช่น การจัดการแข่งขัน Super League โดยมีข้อสรุปว่า “ขัดต่อข้อกฎหมายของสหภาพยุโรป”

ในการพิจารณาคดีนี้ มีการระบุไว้ชัดเจนว่า “UEFA และ FIFA จะไม่มีสิทธิ์ในการลงโทษสโมสรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันทางเลือกอื่นได้”

นั่นจึงทำให้ทาง UEFA และ FIFA ไม่สามารถตั้งข้อหาหรือบทลงโทษต่อสโมสรต่าง ๆ ในยุโรปที่มีแผนจะจัดตั้งลีกการแข่งขัน Super League ได้อีกต่อไป

ต่อมา ทาง UEFA ได้ออกแถลงการณ์รับทราบเกี่ยวกับการตัดสินในครั้งนี้ไว้ว่า “UEFA ได้รับทราบถึงการตัดสินของทางศาลยุโรปเรียบร้อยแล้ว แต่ทางเรา (ยูฟ่า) จะยังคงรูปแบบการแข่งขันในแบบของเราเอาไว้เช่นเดิม โดยจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันบางส่วนให้ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากขึ้น แล้วจะยังยึดถือตามกฎหมายยุโรปและสากลต่อไป”

ส่วนทาง European Super League นั้นสามารถกลับมาดำเนินงานกันต่อได้โดยไม่ต้องถูกแทรกแซงอีก ทางสโมสรเรอัลมาดริด และ บาร์เซโลนา สองผู้สนับสนุนรายใหญ่ของลีกนั้นยังคงอยู่กับการพิจารณาคดีมาตั้งแต่ต้นจนจบ

เบิร์นด์ ไรน์ชาร์น (Bernd Reichart) ซีอีโอของ Super League ได้ออกมาแถลงการณ์ว่า “การผูกขาดของ UEFA จบลงแล้ว ฟุตบอลเป็นอิสระมากขึ้นแล้ว สโมสรต่าง ๆ เองจะเป็นอิสระจากการถูกลงโทษและสามารถประเมินสถานการณ์ของตัวเองได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ในส่วนของแฟนบอลนั้น พวกเราคาหวังว่าท่านจะได้รับชมการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ พวกเราจะรับประกันทั้งในเรื่องรายได้และความสนุกสนานของรายการอย่างเต็มที่”

Super League รูปแบบใหม่จะมีการแบ่งเป็น 64 ทีม และ 3 ลำดับขั้น (Star, Gold และ Blue league)

“การเข้าร่วมซูเปอร์ลีก จะไม่มีการล็อกรายชื่อสโมสรที่เข้าร่วมแบบตายตัวในทุกปี จะมีระบบการเลื่อนชั้น-ตกชั้นกันทุกฤดูกาล ขึ้นอยู่กับผลงานและความสามารถของแต่ละสโมสร”

อย่างไรก็ดี ทาง UEFA ซึ่งนำโดย อาแล็กซานเดอร์ แชแฟรีน ก็ได้ออกมาตอบโต้กับแนวทางนี้แบบสั้น ๆ ว่า “พวกเรา (ยูฟ่า) จะไม่เข้าไปขัดขวางสิ่งที่พวกเขาทำอยู่อีก พวกเขาจะสร้างอะไรขึ้นมาก็ได้ในแบบที่ต้องการ ผมหวังว่าพวกเขาจะเริ่มการแข่งขันโดยเร็วที่สุด ด้วยสองสโมสร (เรอัลมาดริดและบาร์เซโลนา) ให้ได้ ฟุตบอลไม่ใช่สิ่งที่จะขายกันได้”

แฟนเชลซีและซิตี้ต่อต้านการเข้าร่วม Super League

ผลตอบรับจากสโมสรชั้นนำและแฟนบอล

การออกมาแถลงการณ์อันแสนดุเดือดของประธานยูฟ่านั้นทำให้หลายสโมสรทั่วยุโรปเริ่มออกมาแสดงความเคลื่อนไหวของตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย หลายสโมสรเริ่มออกมาแสดงจุดยืนของตัวเองว่า “ไม่มีความประสงค์เข้าร่วม Super League” แม้ว่าผลการตัดสินจะทำให้พวกเขาพ้นผิดแล้วก็ตาม

การออกมาแสดงจุดยืนของแต่ละสโมสรนี้ยังมีสโมสรที่เคยเป็น 1 ใน 12 สโมสรผู้ริเริ่มเข้ามามีส่วนต่อการคัดค้านการเข้าร่วมลีกอีกด้วย นั่นจึงทำให้เหลือเพียง เรอัลมาดริด และ บาร์เซโลนา ที่ยังมีจุดยืนชัดเจนว่าจะอยู่เคียงข้าง Super League ไปจนถึงที่สุด

หนึ่งในสโมสรที่พูดถึงเรอัลมาดริดเกี่ยวกับการจัดการแข่งขัน Super League ได้อย่างเข้าถึงจุดมากที่สุด จะเป็นสโมสร เปแอสเช ในลีกเอิง นำโดย นาสเซอร์ อัลเคไลฟี ประธานของสโมสร โดยเขาได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว่า “มันเป็นเรื่องแปลกมากที่จะพูดถึงซูเปอร์ลีกกับถ้วยรางวัลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกที่มีอยู่หลังคุณ (เปเรซ) เต็มไปหมด”

โดย ฟลอเรนติโน เปเรซ พาเรอัลมาดริดคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกมาแล้ว 14 ครั้ง ตั้งแต่เขาเข้ามาเป็นประธานของสโมสรแห่งนี้

แม้ว่าเส้นทางการจัดตั้ง Super League จะมีความราบรื่นมากขึ้น แต่ถ้าการแข่งขันนั้นกลับไม่มีทีมที่จะเข้าร่วมแข่งขันเลย มันคงจะเป็นเรื่องยากที่ Super League จะได้ไปต่อ แต่มันจะยังคงมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ถ้าหากว่าระบบของลีกมีการปรับโครงสร้างให้แต่ละสโมสรมั่นใจได้ว่าการแข่งขันจะมีความ “ทันสมัย” และจะไม่สร้างผลกระทบต่อสโมสรต่าง ๆ ได้จริง ๆ

ทั้งหมดนี้ก็คือความเป็นมาของ Super League ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานและมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่มันจะต้องแลกมาด้วยความยากลำบากจากทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องจริง ๆ

อ่านบทความเพิ่มเติมของ Funsportfans ได้ที่นี่